การแกะสลัก
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhqfo8-Xb40DG7cAl327xgUjeA34gZ_903cMg_78L-7q31kdXiQju7lno7Tqn5yv4dqmHZNGsA24ZiSF9RhUoEGcNGGSOinVeNP7QIFNxOuLrwTpWo-mnyN92bTdOJASvT5xTMLDfnrT9U/s320/111.jpg)
ประเภทของการแกะสลัก
ประเภทของงานแกะสลักแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ แบบลอยตัว สามารถมองเห็นได้ทุกด้าน เช่น ภาพพระพุทธรูปทั้งองค์ แบบนูนสูง เป็นภาพที่มองเห็นเพียงครึ่งเดียวจากภาพเต็มตัว เช่น การแกะสลักลงบนแผ่นไม้ แบบนูนต่ำ เป็นภาพที่มองเห็นเฉพาะหน้าตรงเท่านั้น เช่น ภาพบนเหรียญ
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการแกะสลักและวิธีการเก็บรักษาเครื่องมือ
วัสดุที่ใช้ในการแกะสลัก
วัสดุที่ใช้สำหรับแกะสลักมีมากมายหลายชนิด ขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน เริ่มตั้งแต่วัสดุสำหรับการแกะสลักแบบง่ายๆ เนื้อวัสดุไม่แข็งมากนัก ไปจนถึงวัสดุที่มีความสลับซับซ้อนต้องใช้เครื่องมือไฟฟ้าเข้าช่วยในการปฏิบัติงานเพราะฉะนั้นในการเลือกใช้วัสดุจึงต้องคัดเลือกให้เหมาะสมกับงานแต่ละชนิด ดังนี้
1. ปูนปลาสเตอร์ หาได้ตามร้านเครื่องเขียนหรือร้านขายอุปกรณ์ทางศิลปะทั่วไป ธรรมชาติของปูนปลาสเตอร์จะมีเนื้อเป็นผงสีขาว ใช้ผสมกับน้ำอัตราส่วนน้ำ 1 ส่วน ปูนปลาสเตอร์ 2 ส่วน แต่ถ้าต้องการให้เนื้อปูนมีความหนาแน่นมากๆ อัตราส่วนของปูนปลาสเตอร์อาจจะผสมลงไปมากกว่านี้ก็ได้ ปูนปลาสเตอร์ที่มีคุณภาพดีเนื้อปูนจะแข็งตัวเร็ว เมื่อจับผิวกายภายนอกจะรู้สึกร้อน การเลือกปูนปลาสเตอร์จึงควรเลือกปูนที่ใหม่และมีคุณภาพดี
2. ปูนผสมทราย เป็นวัสดุสำหรับการแกะสลักที่เกิดจากการใช้วัสดุผสมกัน 2 ชนิด คือ ปูนปลาสเตอร์ และทรายในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ถ้ามีส่วนผสมของทรายมากเกินไปเนื้อปูนจะร่วนไม่เกาะติดกัน การใช้วัสดุปูนผสมทรายนั้นจะต้องมีความพิถีพิถันมาก เช่น ทรายที่จะนำมาใช้ผสมกับปูนปลาสเตอร์จะต้องได้รับการคัดแยกเศษวัสดุที่ปะปนมากับทรายออกให้หมดก่อน เพราะหากยังมีเศษวัสดุอยู่จะทำให้ผิวพื้นวัสดุไม่สวยงามหรืออาจมีปัญหาในขั้นตอนการแกะสลักได้
3. ไม้เนื้ออ่อน เป็นวัสดุที่หาได้ทั่วๆ ไปจากธรรมชาติ ไม้เนื้ออ่อนที่เหมาะสำหรับแกะสลัก เช่น ไม้โมก ไม้สัก เป็นต้น ไม้แต่ละชนิดจะมีลายที่งดงามแตกต่างกัน ซึ่งลักษณะของเนื้อไม้นี้เองสามารถสร้างความน่าสนใจให้กับผลงานแกะสลักได้ ดังนั้น ในการเลือกนำไม้มาแกะสลัก ผู้เรียนควรจะเลือกชนิดและขนาดให้พอเหมาะกับลักษณะของงานแต่ละชิ้น เพื่อไม่ให้วัสดุสิ้นเปลืองจนเกินไป อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย
อุปกรณ์ที่ใช้ในการแกะสลัก
อุปกรณ์ที่ใช้ในการแกะสลักแบ่งตามลักษณะของวัสดุที่จะนำมาแกะสลักได้ดังนี้
1. ชุดเครื่องมือแกะสลักวัสดุอ่อน เป็นชุดเครื่องมือสำหรับใช้ในการแกะสลักวัสดุประเภท เทียนไข ปูนปลาสเตอร์ ผัก ผลไม้ เป็นหลัก มีหลายขนาดหลายแบบ จัดใส่กล่องไว้เป็นชุดๆ ตัวด้ามทำด้วยไม้หรือพลาสติก ส่วนหัวทำด้วยโลหะ มีลักษณะหน้าเรียบ ตรง เฉียง และโค้ง ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการเลือกใช้แกะสลักได้ตามต้องการ
2. ชุดเครื่องมือแกะสลักวัสดุเนื้อแข็ง เป็นชุดเครื่องมือสำหรับใช้ในการแกะสลักวัสดุประเภทไม้และปูนผสมทรายเป็นหลัก ตัวด้ามจะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ส่วนหัวทำด้วยโลหะเนื้อแข็ง มีหลายแบบ เช่น แบบหน้าเอียง ร่องตื้น ร่องลึก ปลายตัด เป็นต้น บางครั้งเรียกเครื่องมือแกะสลักชนิดนี้ว่า “สิ่ว”
3. ตะลุมพุกและค้อน เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับตอกหรือตีลงไปบนเครื่องมือแกะสลัก ส่วนมากจะใช้คู่กับสิ่ว ใช้กับการแกะสลักวัสดุที่มีเนื้อค่อนข้างแข็ง เป็นผลงานที่มีขนาดใหญ่ เวลาแกะสลักจะใช้เนื้อที่กว้างในการทำงาน
การเก็บรักษาเครื่องมือแกะสลัก
เครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลักจะมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะและประเภทของงานนั้นๆ เครื่องมือแกะสลักจะมีความแข็งแรงทนทานมากกว่าเครื่องมือปั้น แต่การเก็บรักษาจะคล้ายคลึงกัน จะต่างกันตรงที่เครื่องมือแกะสลักควรจะแยกประเภทของลักษณะงาน เช่น ชุดของเครื่องมือสำหรับแกะสลักวัสดุเนื้ออ่อน ชุดเครื่องมือสำหรับแกะสลักวัสดุเนื้อแข็ง เป็นต้น ก่อนเก็บเข้าชุดหลังจากใช้งานเสร็จแล้วควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำแล้วเช็ดให้แห้ง ทาน้ำยากันสนิม แล้วนำมาเก็บใส่กล่องให้เป็นระเบียบเพื่อสะดวกในการนำไปใช้งานในครั้งต่อไป
หลักและวิธีการแกะสลัก
การแกะสลักมีหลักและวิธีการสำคัญ ดังนี้
1. การเลือกวัสดุ จะต้องพิจารณาคัดสรรให้สอดคล้องกับงานที่ทำ เพราะวัสดุแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวแตกต่างกัน เช่น บางชนิดมีเนื้ออ่อน บางชนิดมีเนื้อแข็ง เป็นต้น
2. การเลือกเครื่องมือ จะต้องเลือกให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของงาน ไม่ควรเลือกใช้กับงานที่ผิดประเภท เพราะจะทำให้เครื่องมือเสียหายได้
3. การร่างรูปและการขึ้นรูป เป็นขั้นตอนที่สำคัญของการแกะสลัก เป็นกระบวนการทางลบที่นำส่วนย่อยออกจากส่วนรวม จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการแกะสลักมากกว่าการปั้นที่ค่อยๆ พอกเพิ่ม และประการสำคัญส่วนไหนพอกเกินก็สามารถนำออกได้ ดังนั้นการแกะสลักจึงต้องมีการวางแผนและเตรียมการให้ชัดเจนตั้งแต่การร่างรูป กำหนดเส้น โครงสร้าง สัดส่วนของแบบที่จะแกะสลักให้แน่นอน เมื่อได้แล้วจึงค่อยๆ แกะสลักขึ้นรูปโครงสร้างแบบคร่าวๆ ในขั้นตอนนี้จะเป็นการฝึกการสังเกตหรือศึกษาภาพแกะสลักเป็นภาพรวมอย่างหยาบไปก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น